หลวงปู่เจี้ยะ จุนโท (พระครูสุทธิธรรมรังสี) วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ปทุมธานี
หลวงปู่เจี้ยะ จุนโท (พระครูสุทธิธรรมรังสี) พระผู้เป็นดังผ้าขี้ริ้วห่อทอง
1. ปฏิบัติลำบาก รู้เร็ว
.....เดิมจริง ๆ ชื่อว่า โอเจี๊ยะ แปลว่าหินดำ เพราะเรามีปานดำที่แผ่นหลัง ต่อมาภายหลังเรียกสั้น ๆ ว่า เจี๊ยะ คำว่าโอเจี๊ยะ มีความหมายในทางธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่มีปานประเภทนี้ จะต้องเป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่งดุจศิลาแลง ทนร้อนทนหนาว ทนทุกข์ทนสุข อดทนได้ รับได้ แก้ไขได้ทุกสภาวการณ์ เหมือนจะเป็นธรรมเตือนเราว่า จงทำจิตใจให้เป็นดั่งแผ่นหิน
ในวัยหนุ่มทำมาค้าขาย ขายเงาะ ขายทุเรียน นิสัยออกจะติดทางนักเลง เป็นคนจริงจังในหน้าที่การงาน ไม่เกเร พูดจาโฮกฮาก ไม่กลัวคน ต้นตระกูลเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ชอบโกหก จึงเป็นมรดกทางอุปนิสัยติดต่อกันมาเรื่อย ๆ จนถึงผู้เป็นลูกหลาน เราเป็นคนทำอะไรต้องทำให้ได้ดั่งใจ เวลาไปบรรทุกผลไม้ที่ท่าแฉลบ เรือลำไหนมันขึ้นฝั่งไม่ได้ เรือเขาขึ้นไม่ได้ทั้งหมด แต่สำหรับเรือเราแล้วต้องขึ้นได้ คือเอาขึ้นจนได้ เราเป็นคนแข็งแรง สู้ทุกรูปแบบ เป็นคนจริงจัง ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ
..และไม่เคยยอมแพ้ใครในหน้าที่การงานทั้งปวง
ขณะที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านกำลังเป็นผ้าขาวอยู่ที่สำนักวัดทรายงาม เพื่อเตรียมตัวอุปสมบท ท่านเล่าว่า
คืนหนึ่งตอนเป็นนาคฟังเทศน์ท่านอาจารย์กงมา พอนั่งภาวนาฟังเทศน์ไป จิตอยู่กับคำบริกรรม หูก็ได้ยินเสียงเทศน์ไป คือจิตก็ทำหน้าที่ของมัน หูก็ทำหน้าที่ของมันจนเกิดเป็นสมาธิ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันเป็นสมาธิ รวมจนกระทั่งว่าไม่มีตัวตน ตัวตนหายหมดแล้วมาปรากฏภาพนิมิต เห็นตนเองหมอบไปฟุบกับกองทรายอย่างชัดเจน ตัวนี้อ่อนไปหมด ปรากฏว่าในขณะนั้นตัวตนไม่มี จนกระทั่งท่านพระอาจารย์กงมาแสดงธรรมจบลง จึงรู้สึกตัว
ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480 ที่วัดจันทนาราม ต.จันทนิมิตร อ.เมือง จ.จันทบุรี โดยมีพระครูครุนาถสมาจาร(เศียร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์วิหารการ(เชย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพ่อลี ธัมมธโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดทรายงาม ได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ในบางคราวได้เดินทางไปศึกษาวัตรปฏิบัติกับท่านพ่อลี ธัมมธโร ที่วัดป่าคลองกุ้ง อ.เมือง จ.จันทบุรี ในพรรษาที่สองท่านถือเนสัชชิ โดยการไม่นอนตลอดพรรษา (ไม่นอนกลางคืน กลางวันนอนบ้าง-ผู้ถอดเทป)
ท่านเล่าว่า
.......เพราะความที่เป็นผู้รักษาสัจจะ สัจจะนั้น จึงเป็นเหมือนโซ่ตรวนคอยรึงรัด กาย จิต เอาไว้ ตายเป็นตาย แต่จะให้สัจจะที่ตั้งไว้ขาดไม่ได้ แม้ร่างกายนี้อะไรจะเสียผุพังไปก็ตาม แต่สัจจะ จะเสียไปไม่ได้ เพราะสัจจะที่เราให้ไว้กับตัวเรา เรายังรักษาไม่ได้แล้ว เรายังหวังจะพบธรรมอันประเสริฐ ซึ่งอยู่เหนือสัจจะนั้นได้อย่างไรกัน เมื่อตั้งสัจจะแล้ว เริ่มภาวนาทั้งกลางวันกลางคืน จนในที่สุดเมื่อภาวนาอยู่ไม่หยุดไม่ถอย
อยู่มาวันหนึ่งในพรรษาที่ 3 มานั่งภาวนาอยู่ใต้ต้นกระบก จิตรวมใหญ่ด้วยกัน หยั่งสติปัญญาลงในกายานุปัสสนา แยกแยะส่วนต่าง ๆ ของธาตุขันธ์ออกพิจารณาด้วยปัญญาไม่ลดละ คือยกทั้งส่วนรูปกาย ทั้งส่วนเวทนาคือทุกข์ภายใน ทั้งส่วนสัญญาที่หมายกายส่วนต่าง ๆ ว่าเป็นทุกข์ ทั้งส่วนสังขารตัวปรุงแต่งว่าส่วนนี้เป็นทุกข์ส่วนนั้นเป็นทุกข์ ขึ้นสู่เป้าหมายแห่งการพิจารณาของสติปัญญาผู้ดำเนินงานทำการขุดค้นคลี่คลายอย่างไม่หยุดยั้ง
จิตมีกำลังขึ้นมาอย่างประจักษ์ สามารถคลี่คลายธาตุขันธ์จนรู้แจ้ง ตลอดทั่วถึงด้วยอำนาจแห่งการพิจารณา
การพิจารณากายครั้งนี้ปรากฏประหนึ่งว่าแผ่นดินแผ่นฟ้าละลายหมด กายกับใจนี้มันขาดออกจากกัน เหมือนว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลย เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจทีเดียว
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จิตนี้มันอาจหาญรื่นเริงในธรรม ไม่กลัวใคร คือว่าไม่กลัวต่อความจริงที่จะต่อสู้และพิจารณา เรียกว่าธรรมทำให้กล้าหาญ เมื่อเป็นสันทิฏฐิกธรรม คือรู้เองเห็นเองโดยเฉพาะตนแล้ว จึงไม่นำไปพูดกับใคร
จึงนึกถึงแต่กิตติศัพท์และกิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อภาวนาจิตลงได้อย่างนั้นแล้ว สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ที่เขานิยมว่ามีค่ามากไม่ได้มีความหมายเลย
ธรรมที่ปรากฏขึ้นในคืนวันนั้นเป็นธรรมสมบัติเหนือรัตนะเงินทองโดยประการทั้งปวง อัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่ง จิตนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณเลย ถึงกับได้พูดกับคนรักที่เคยได้สัญญากันไว้ก่อนบวชว่าบวชแล้วจะสึกมาแต่งงานกัน แต่เมื่อจิตมันเป็นเช่นนี้
วันหนึ่งออกบิณฑบาต เจอคนที่เคยรักมาใส่บาตร จึงพูดอย่างเด็ดขาดกับเขาว่า แป้งเอ๋ย ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่สึกแล้วนะ