ข้อมูลประวัติ ครูบาขันแก้ว วัดสันพระเจ้าแดง ลำพูน
หลวงปู่ครูบาขันแก้ว อุตตโม หรือ ท่านพระครูอุดมขันติธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดป่ายาง(สันพระเจ้าแดง) ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๔๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ (เดือนยี่เหนือ) ปีกุล ณ ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
หลวงปู่มีชื่อเดิมว่า ขันแก้ว นามสกุล อิกำเหนิด โยมบิดาชื่อ นายอินตา อิกำเหนิด โยมมารดาชื่อ นางสม อิกำเหนิด หลวงปู่มีรูปร่างสันทัด ผิวสีเนื้อดำแดง เป็นบุตรชายคนโตของน้องสาว ๓ คนและน้องชาย ๑ คน..
โยมปู่ของหลวงปู่ชื่อว่า ปินตา อิกำเหนิด โยมย่าชื่อ ปรก ได้อพยพครอบครัวมาจากตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินคือทำนาที่ตำบลห้วยไซ แล้วจึงได้ย้ายลงมาอยู่ที่ตำบลห้วยยาบ
ในครั้งนั้นโยมปู่ของท่านได้อพยพมาพร้อมกับพี่น้องรวม ๖ ครอบครัวและได้มาตั้งรกรากใกล้กับ วัดสันพระเจ้าแดง ซึ่งเป็นวัดร้างโดยโยมปู่ของท่านได้เป็นหัวหน้าบูรณะซ่อมแซมก่อสร้างจนกลายเป็นวัดขึ้นมา
หลวงปู่ครูบาขันแก้ว อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๖๓ ณ พันธสีมา วัดต้นปืน อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน โดยมี พระอธิการแก้ว (หลวงปู่ครูบาอินทจักโก) วัดป่าลาน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบุญเป็ง ปัญญาวโร วัดบ้านธิหลวง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพุฒ ปันทวงศ์ วัดห้วยไซ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่ได้รับฉายาว่า อุตตโม ครับ
เล่ากันว่าหลวงปู่ท่านเป็นพระที่มีอุปนิสัยไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย ถ้าท่านทำงานหนักไม่ได้ ท่านก็จะทำงานเบาๆ เช่นเขียนยันต์ ทำตะกรุด แม้แต่งานกวาดลานวัดท่านก็จะทำเองในทุกเวลาเช้า
จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีนักแสวงบุญที่ชื่อ คุณหมอสมสุข คงอุไร แห่ง คณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก เป็นผู้ที่เดินทางมาเปิดขุมทรัพย์แห่งธรรมอันนั้น จากบันทึกเรื่องการพบหลวงปู่ขันแก้ว อุตตโม ของคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ได้เขียนไว้อย่างละเอียดแต่ด้วยความจำเป็นในเรื่องความยาวขออนุญาตสรุปใจความดังนี้ครับ
ในระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ คณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก โดยการนำของ คุณพ่อหมอสมสุข คงอุไร ได้เดินทางขึ้นไปเยี่ยมอาการอาพาธของ หลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย จังหวัดลำพูน ซึ่งขณะนั้นท่านครูบาชุ่ม พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสวนดอกนครเชียงใหม่
ในวันนั้นได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งครองจีวรสีกลัก เดินทางเข้ามาเยี่ยมและตรงเข้าไปกอดเอวและพูดคุยด้วยภาษาคำเมืองกับครูบาชุ่มอย่างสนิทสนม
ขณะที่คุณพ่อหมอสมสุข ท่านได้นึกตำหนิพระรูปนั้นอยู่ในใจ หากแต่การตำหนินั้นไม่สามารถปกปิด อภิญญาจิต เจโตปริยญาณ ของหลวงปู่ครูบาชุ่มได้
หลวงปู่ครูบาชุ่ม ได้เรียกคุณพ่อหมอสมสุขให้เข้าไปหาและแนะนำว่าพระภิกษุที่ครองจีวรสีกลักนั้นชื่อว่า ครูบาขันแก้ว เป็นเพื่อนรักร่วมรุ่นเดียวกับท่าน...
สมัยนั้น หลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก เจ้าอาวาสวัดวังมุย เป็นพระที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของแผ่นดินล้านนา ความเชี่ยวชาญในเชิงเวทย์และคุณธรรมของท่านเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป
ในช่วงเวลาที่ครูบาศรีวิชัย ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่ครูบาชุ่มคือหนึ่งในผู้ร่วมสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ท่านได้รับความเมตตาจากครูบาศรีวิชัยเป็นอันมาก โดยครูบาศรีวิชัยได้มอบ พัดหางนกยูงพร้อมกับไม้เท้า ให้กับท่าน พร้อมกับสั่งว่า เอาไว้เดินทาง เทศนาเผยแพร่ธรรมแทนท่านด้วย...
ภายหลังเมื่อหลวงปู่ครูบาชุ่มได้มรณภาพลง คณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกได้ดำเนินการสร้างรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริงของท่าน คณะกรรมการวัดวังมุยได้นิมนต์พระอาจารย์ต่างๆมาจากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน แต่ในจำนวนรายชื่อทั้งหมดกลับไม่มีชื่อของหลวงปู่ครูบาขันแก้ว โดยคณะกรรมการวัดวังมุยให้เหตุผลว่า
ไม่เคยทราบหรือเคยเห็น หลวงปู่ครูบาขันแก้วเคยได้ร่วมในพิธีปลุกเสกพระในที่ใดมาก่อน อีกทั้งยังไม่เคยได้ข่าวว่าท่านเคยสร้างวัตถุมงคลอะไรเลย
เรื่องราวที่เริ่มจะบานปลายเนื่องจากคุณหมอสมสุข ท่านไม่ยอมเพราะเห็นว่าหลวงปู่ครูบาขันแก้วท่านเป็นเพื่อนรักกับหลวงปู่ครูบาชุ่ม อีกทั้งในระหว่างการจัดงานศพ หลวงปู่ครูบาขันแก้วท่านก็ได้มาช่วยงานทุกคืน ในที่สุดคณะกรรมการวัดวังมุยจึงต้องไปนิมนต์หลวงปู่ครูบาขันแก้วมาร่วมในงานปลุกเสกและเบิกเนตรรูปหล่อของหลวงปู่ครูบาชุ่มในครั้งนี้ด้วย
เล่ากันว่าในขณะที่เริ่มประกอบพิธีปลุกเสก พระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์มา ๓ รูปได้นั่งหลับตาและแผ่อำนาจจิตปลุกเสกแต่หลวงปู่ครูบาขันแก้วกลับนั่งลืมตาและเคี้ยวเมี่ยง
เล่นเอาชาวบ้านแถววัดวังมุยเริ่มจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันว่าใครหนอไปนิมนต์พระที่ปลุกเสกไม่เป็น บ่อมิไก๊ มาร่วมในงานพิธีปลุกเสกครั้งนี้และเมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เริ่มดังขึ้น
ท่านพระครูนวลที่มาเป็นพระควบคุมพิธีในครั้งนี้ได้เข้ามาบอกกับคุณหมอสมสุขว่า
โยมหมอใครไปนิมนต์ตุ๊ลุงองค์นี้มา ดูสินั่งลืมตา ยันเมี่ยงอยู่จับๆ ไม่เห็นปลุกเสกอะไรเลย...
คุณหมอสมสุข จึงตอบไปว่าท่านเป็นคนที่นิมนต์หลวงปู่ครูบาขันแก้วมาเอง แต่ขอให้ดูกันต่อไปอีกสักพัก....จากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ทุกวันนี้เราได้รู้จักพระที่ทรงกิตติคุณเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งองค์ครับ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้ดังนี้ครับ....
หลวงปู่ครูบาขันแก้วเริ่มเปลี่ยนอิริยาบถ เอาผ้าห่มขนหนูคลุมที่ไหล่ทั้งสองข้าง(ต่อมาภายหลังทราบว่าท่านกำลังป่วยเป็นไข้) หลังจากพิธีผ่านไปแล้วประมาณ ๑๐-๑๕ นาที หลวงปู่ครูบาขันแก้วได้นั่งห้อยเท้าลงมา
ตาของท่านเริ่มเป็นประกายกล้าแรงขึ้น ขณะนั้นช่างภาพประจำคณะของเราได้เข้าไปใกล้ที่ท่านนั่งปรกอยู่ แล้วก็ถ่ายรูปในอิริยาบถนั้น....
ทันทีที่แสงไฟแฟลชสว่างจ้าขึ้นเป็นประกาย นัยน์ตาของหลวงปู่ครูบาขันแก้วก็มิได้กระพริบเลย...
ช่างภาพอีกคนก็เข้าไปถ่ายบ้าง แสงไฟแฟลชสว่างจ้าขึ้นอีกครั้ง แต่นัยน์ตาของหลวงปู่ก็ลืมอยู่อย่างปกติ
ลืมตาอยู่อย่างไร ก็ลืมตาเปิดตากว้างอยู่อย่างนั้น..
คุณพ่อและพวกเราที่นั่งดูอยู่อย่างใกล้ ทุกคนจ้องดูอย่างตั้งใจก็เห็นกันทุกคนว่า
นัยน์ตาของหลวงปู่ไม่กระพริบเลย
คราวนี้ก็ให้ช่างภาพทั้ง ๒ คนของพวกเราเข้าไปขนาบทั้งซ้ายและขวา ก่อนจะยิงแฟลชถ่ายรูป ให้อธิษฐานในใจขอขมาก่อน พวกเราก็นั่งคอยดูกันจนแสงไฟแฟลชได้สว่างขึ้นทั้งซ้ายและขวาพร้อมกัน แต่นัยน์ตาของหลวงปู่ขันแก้วก็ไม่กระพริบอีกตามเคย
ช่างภาพหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ๒ ฉบับซึ่งได้ไปทำข่าวก็เข้าไปถ่ายอีก คราวนี้แฟล็ชแรงกว่าของพวกเรา เพราะเมื่อเห็นว่าพวกเราถ่ายรูปหลวงปู่องค์นี้มากก็เข้าไปถ่ายบ้าง ผลปรากฏออกมา .....ตาของหลวงปู่ขันแก้วก็มิได้กะพริบเลย เป็นเวลานานหลายๆนาที คนธรรมดาสามัญย่อมทำไม่ได้อย่างแน่นอน...
ในหมู่นักนิยมพระเครื่องบางท่านอาจจะกล่าวว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติทั่วไป ข้อนี้ผมไม่สามารถโต้แย้งได้...
แต่กับเรื่องที่คนธรรมดาสามารถลืมตาโดยไม่กระพริบต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบๆนาที อันนี้สิครับเป็นเรื่องที่ต้องคิดและสิ่งที่เราต้องมาตีลังกาคิดอีกสามตลบคือการที่ดวงตาต้องกระทบกับแสงแฟลชครับ
เพราะโดยสัญชาติญาณแล้วคนเราโดยทั่วไปไม่สามารถทำได้หรอกครับ ดังนั้นการที่หลวงปู่ครูบาขันแก้วสามารถทำได้นั่นย่อมหมายความว่า ณ ขณะนั้นจิตของท่านเข้าสู่สมาธิจริงๆ
ว่ากันว่าการจะทำสิ่งใดด้วยความพยายามที่เกินกว่ากำลังความสามารถ มักจะให้ผลเสียหายมากกว่าผลดี
หากแต่บางครั้งเส้นแบ่งของการทำเกินกำลังความสามารถที่เกิดจากการกระทำด้วยความชำนาญในศาสตร์ของตนเอง
มันก็เป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะหามาตรฐานใดมาเป็นตัวกำหนด....
พระอาจารย์ชนินทร์ ท่านบอกกับพวกเราว่าในชีวิตของท่านได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆมาพอสมควร แต่สุดท้ายแล้วท่านก็จบลงตรงที่หลวงปู่ครูบาขันแก้ว
ท่านว่า...หลวงปู่ครูบาขันแก้ว ถือว่าเป็นที่สุดแล้ว
ความเป็นที่สุดของหลวงปู่ครูบาขันแก้วนี้ หมายรวมไปถึงหลักการปฏิบัติและแนวทางการเจริญสมาธิ เพื่อหวังผลให้ถึงเป้าหมายของชีวิตคือ การหลุดพ้น
ถ้าคนเรานั่งสมาธิเพื่อต้องการความสงบ ความสุข ของจิตใจ เราสามารถเจริญสมาธิในแบบใดก็ได้ แต่ถ้าหากหวังถึงมรรค ผล นิพพาน นั่นคือเราจะต้องเลือกเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง...
ความถูกต้องอันนี้ พระอาจารย์ชนินทร์ท่านได้อธิบายให้พวกเราฟังพอเป็นสังเขป หากเพื่อนๆท่านใดสนใจก็คงจะต้องสอบถามจากพระอาจารย์ชนินทร์เอาเองครับ เพราะคำสอนของพระอาจารย์ เจริญรอยตามแนวทางของครูบาขันแก้ว
ธรรมะและคำสอนของท่านเป็นเรื่องที่ฟังไม่ยาก สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพียงแต่ขีดความสามารถในการถ่ายทอดของผมค่อนข้างมีจำกัดครับ...เอาเป็นว่าเมื่อไรตกผลึกทางความคิดก็จะรีบนำมาเขียนให้เพื่อนได้รับทราบครับ...
พูดถึงเรื่องของวัตถุมงคลกันบ้าง....ในชีวิตของหลวงปู่ครูบาขันแก้วท่านได้สร้างไว้พอสมควรแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก วัตถุมงคลของท่านที่มีชื่อเสียงจะเป็นพวกตะกรุดชนิดต่างๆ เช่นตะกรุดก๋าสะท้อน ตะกรุดนากคอคำ ฯลฯ แต่ตะกรุดซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้นิยมในเครื่องรางของขลังต้องเป็นอันนี้ครับ
ตะกรุดสหรีกัญชัย
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้การนำของท่านคณบดีและคณาจารย์ต่างๆ ตลอดจนนิสิตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ช. ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องต่างพากันเข้าไปทำบุญที่วัดป่ายางและขอตะกรุดจากหลวงปู่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑-๒๔๒๔ จนตะกรุดของหลวงปู่ครูบาขันแก้ว ได้รับฉายานามว่า....ตะกรุดสหรีกัญชัย ขวัญใจ ม.ช.
ตะกรุดสหรีกัญชัย เป็นตะกรุดที่ลงด้วย พระยันต์ดาบสหรีกัญชัย ซึ่งในเรื่องที่ไปที่มาของพระยันต์ชนิดนี้ค่อนข้างมีความพิสดารล้ำลึก ต้องว่ากันในเรื่องของวาสนาบารมีของผู้ทำที่มีมาแต่อดีตชาติและในปัจจุบันชาติก็ต้องสะสมไว้อย่างเข้มแข็ง รวมไปถึงเรื่องของการก้าวผ่านมิติกาลเวลาตลอดจนสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ....