ข้อมูลประวัติ หลวงพ่อจั่น จันทสร วัดบางมอญ(บางสงบ) พระนครศรีอยุธยา
เกิด วันจันทร์ เดือน 4 ปีกุน พ.ศ.2380 เป็นบุตรของนายทับ นางทรัพย์
อุปสมบท ณ วัดบางมอญ พ.ศ.2403 ตรงกับปีระกา
มรณภาพ วันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ.2470 เวลา 16.00 น.
รวมสิริอายุ 90 ปี 67 พรรษา
ชีวประวัติหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ มหาราช ในอดีตแผ่นดินทองของตำบลบางนา อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นตำบลหนึ่งที่มีความเป็นซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์สลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อยทีเดียว
คำว่า "อยุธยา" นั้น ทุกคนย่อมรู้ว่าเป็นเมืองเก่าโบร่ำโบราณ และเคยเป็นเมืองหลวงของไทยมาแล้วสมัยหนึ่ง ความยิ่งใหญ่ไพศาลและความสมบูรณ์พูนสุข ทำให้ผู้คนในสมัยกรุงศรีอยุธยาเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งมีระยะเวลานานโขทีเดียว ในช่วงระยะเวลาหนึ่งของความรุ่งโรจน์ได้กลับมาเป็นร่วงโรย ก็เมื่อครั้งเสียกรุงเมื่อปี 2310 นี่เอง สิ่งที่เป็นพยานโดยประจักษ์ชัดนั้นก็คงได้แก่โบราณสถานอันสำคัญต่างๆ ในพระราชวังและซากกรุงโดยทั่วไป ซึ่งยังทิ้งความเก่ารกร้างไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เชยชม ปูชนียวัตถุหรือโบราณวัตถุเหล่านั้นก่อให้เกิดสะท้อนทางอารมณ์ของคนไทยเราไม่น้อยเลยทีเดียว หลักฐานต่างๆ ถึงแม้จะเป็นเพียงน้อยนิด ก็ยังคงสะกิดใจของคนไทยเราอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
ตำบลบางนา ในอดีตนั้นเป็นตำบลหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวรามัญ (มอญ) เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั่นชาวมอญเหล่านี้ได้มาตั้งรกรากถิ่นฐานประกอบสัมมาอาชีพที่สุดจริต โดยการปั้นหม้อดินเผา ปั้นโอ่ง ปั้นไห หม้อ กระปุก จานชาม ครก ต่างๆ ซึ่งชาวมอญมีความชำนาญมากได้มาทำการค้าขายให้กับคนไทยเราเรื่อยมา
โดยชาวมอญ ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากจังหวัดปทุมธานีบ้างและที่อื่นๆ บ้าง เพราะชาวมอญทั้งหมดมีปรากฏอยู่ทั่วๆไป เพราะชาวมอญทั้งหมดมีปรากฏอยู่ทั่วไปๆ เช่น ชาวรามัญปากลัด พระประแดงชาวรามัญหมู่บ้านบางมอญ สิงห์บุรี ชาวมอญมีนิสัยชอบค้าขายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับมีความชำนิชำนาญในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผาอยู่ก่อนแล้ว ถึงแม้ว่าการเผาอิฐก็เช่นกัน ชาวรามัญมีความถนัดมากไม่น้อยเลยทีเดียว นับเป็นอาชีพหลักที่สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษของเขานั่นเองการมาตั้งรกรากถิ่นฐานที่ตำบลบางนาแห่งนี้ เขาคงจะเล็งเห็นว่าเป็นตำบลที่ค่อนข้างดี เหมาะเจาะเกี่ยวกับการค้าขายและการทำไรนาบ้าง พวกเขาเหล่านั้นจึงเลือกชัยภูมิดังกล่าวในตำบลนี้เป็นที่ตั้งพื้นฐานเพื่อก่อร่างสร้างฐานะของเขา
จากหลักฐานที่น่าจะทำให้คิดและสันนิษฐานว่าแหล่งตำบลบางนาแห่งนี้เป็นที่ตั้งของชาวรามัญนั้น มีอยู่ว่ามีเตาเผาและวัตถุอันเป็นวัสดุเกี่ยวกับดินเผา นั่นคือ หม้อ โอ่งไห ฝังจมพื้นที่ดินฝั่งลำคลองบางนาทั้งสองฝั่งฟาก ลำคลองแห่งนี้เป็นลำคลองเก่า ที่ประชาชนทั้งหลายหมู่เหล่า ได้ใช้เป็นที่สัญจร ไปมาหาสู่กันตลอดมา ครับ ยังไม่มีการชลประทาน เรือยนต์ และเรือจ้างและเรือพาย ก็เป็นปัจจัยสำคัญในครั้งนั้นอย่างมากทีเดียว
ลำคลองบางนา เป็นลำคลองที่ให้คุณประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งคลองโดยทั่วไป ความอุดมสมบูรณ์ได้เกิดขึ้นแก่ประชาชนผู้พักอาศัยเป็นอันมากคลองนี้เป็นคลองที่แยกมาจากลำแม่น้ำ ลพบุรี ตรงตำบลกระทุ่ม ไหลล่องใต้มาบรรจบกันกับแม่น้ำป่าสัก ซึ่งไหลมาจากสระบุรีมาบรรจบกันที่ จ.อยุธยา (คือ แม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ลพบุรี) การทำมาค้าขายของชาวรามัญจึงต้องอาศัยเรือเป็นเรื่องสำคัญในการขนถ่ายสินค้า หม้อดิน โอ่ง ไห ต่างๆ ไปตามลำห้วย ลำคลอง หนองบึง และที่มีประชาชนอาศัยอยู่ ด้วยเหตุที่ปักหลักในการประกอบอาชีพอย่างเป็นล่ำเป็นสันนี่เอง จึงทำให้ชาวรามัญทั้งหลายทั้งมวลสร้างวัดขึ้น เพื่อประกอบศาสนกิจตามควรอันเกี่ยวกับประเพณีนิยมขึ้น วัดที่ชาวรามัญจัดสร้างขึ้นนั้น คือ วัดบางมอญ ซึ่งอยู่ในตำบลบางนา หมู่ที่ 4 อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี่เอง ในสมัยโบราณชาวบ้านแถบนั้นเชื่อว่าเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวรามัญอย่างแน่นอน เพราะมีสถานที่เตาเผาหม้อดิน สิ่งเหล่านี้ได้ชำรุดแตกสลายทับถมกันเป็นชั้นเชิง เนินสูงกองพะเนินอยู่ตามริมฝั่งคลองดังกล่าว ซึ่งเป็นที่เชื่อและสันนิษฐานได้ว่าเป็นแหล่งที่ชาวมอญอยู่อาศัย
การสร้างวัดวาอารามของชาวมอญ ก็คงจะสร้างคล้ายๆ กับการสร้างวัดโดยทั่วไป ตามหลักพุทธศาสนาของเรา เพราะมีปรากฏหลายวัดที่ชาวรามัญได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้น โดยนิมนต์พระภิกษุที่มีเชื้อสายเดียวกันเป็นสมภารเจ้าอาวาส และเชื่อเหลือเกินว่าเมื่อสร้างวัดขึ้นแล้ว ก็จะต้องตั้งชื่อหรือขนานนามวัดตามตำบลที่อยู่ ทุกคนพร้อมใจกันเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดบางมอญ" ซึ่งตั้งอยู่บนริมฝั่งคลองบางมอญทางด้านทิศตะวันออก ในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลบางนา อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดบางมอญหรือบางคนเรียกว่าวัดคลองมอญนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่นอน พื้นที่ของวัดมีเกินกว่า 15 ไร่ ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลบ้านหลวง กิ่งอำเภอดอนพุด จ.สระบุรีทิศใต้ ติดต่อกับตำบลกระทุ่ม อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยาทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลพระนอน อ.นครหลวงทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลโรงช้าง
1.พระอุปัชฌาย์จั่น จันทศร
2. พระปุปัชฌาย์แหยม
3. หลวงพ่อเชียว ธรรมโชติ
4. หลวงพ่อเมือง
5. หลวงพ่อพวง ธรรมปัญโญ (เย็นสุข)
วัดบางมอญ มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นวัดเก่าก็คือ มีโบสถ์มหาอุตแบบชาวมอญเคยสร้างเช่นที่วัดเชิงท่า ลพบุรี พร้อมทั้งเจดีย์ก็มีส่วนคล้ายกันมาก และเหมือนกับพระเจดีย์วัดอัมพวัน ซึ่งหลวงพ่อกวักก็เคยสร้างไว้ อันมีเชื้อสายเดียวกัน ปัจจุบันนี้โบสถ์ได้สร้างใหม่ (รื้อของเก่าออก) มีเสาหงส์ 2 เสา พร้อมทั้งตัวหงส์อยู่บนยอดเสาเป็นเนื้อโลหะผสม แต่ก็ได้มีขโมยลักไปเสียแล้วมองกุฏิพื้นไม้ต่างๆ ยังมีลวดลายฉลุให้ปรากฏเห็น ว่าเป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง ในตำบลบางนาแห่งนี้ วัดบางมอญ จึงมีพวกมิจฉาชีพเข้ามาลักขโมยของดี และมีค่ากันครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งชาวบ้านหวาดผวาไปตามๆ กัน
วัดบางมอญ เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางสงบ เมื่อครั้งขุนบริหารชลานันท์ มาเป็นนายอำเภอมหาราชนี่เอง แต่ประชาชนทั่วๆ ไป ไม่ค่อยจะรู้จักคำว่าบางสงบมากนัก คงเรียกว่าวัดบางมอญอยู่เช่นเดิม เหตุที่เรียกว่าวัดบางสงบ หรือเปลี่ยนชื่อว่าบางสงบนั้น เพราะว่าคนแถบวัดบางมอญเองทำมาหากินกันอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่ค่อยมีนักเลงอันธพาล มีความร่มเย็นเป็นสุข เรียกว่าอยู่กันอย่างสันติสุข ในการประกอบอาชีพโดยทางสุจริต จะมีคนถิ่นอื่นเท่านั้นที่ไปก่อเรื่องก่อราวขึ้น ชาวบางมอญทุกคนมีความสมานสามัคคีกันดี อาชีพหลักของเขาคือการทำนา ท่านผู้ใดจะประสงค์ไปเที่ยววัดบางมอญหรือวัดบางสงบนั้นไปไม่ยากเลย เพราะปัจจุบันนี้เส้นทางสัญจรไปมา (การคมนาคม) สะดวก ถ้าท่านมาจากกรุงเทพฯโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือไม่ก็ตาม เมื่อรถวิ่งมาตามถนนสายเอเชีย กระทั่งถึงทางแยกเข้าตัวเมืองอ่างทอง ท่านหยุดรถตรงสี่แยก แล้วมองไปทางขวามือทางด้านทิศตะวันออกจะมีถนนอีกสายหนึ่ง นั่นคือ ถนนสายอ่างทอง-ถนนสายท่าเรือ (สายยาวตัดเชื่อมกัน) จากนั้นท่านก็เลี้ยวรถวิ่งไปทางขวามือทางทิศตะวันออกประมาณ 12 กิโลเมตร จะเห็นหมู่บ้านและมีป้ายบอกชื่อวัดบางมอญ อยู่ขวามือ เลยสะพานเลี้ยวขวามือ มองไปทางทิศใต้ไม่ไกลนักประมาณสัก 1 กม. ครึ่ง ท่านจะเห็นโบสถ์วัดบางมอญเด่นสง่างามไม่น้อยทีเดียว (โบสถ์หลังใหม่) ส่วนของเก่าได้ถูกรื้อเพราะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
สภาพของวัดบางมอญครั้งอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก คือ มีของเก่าแก่มากแสดงให้เห็นว่าเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนและวัดบางมอญนี่เองที่มีพระคณาจารย์ทีมีชื่อเสียงระบือลั่นนามก้องไปทั่วสารทิศ เกียรติคุณและกิตติศัพท์ของพระคุณท่านนั้นย่อมเป็นที่โจษขานเล่าลือกันมาตลอดไม่เสื่อมคลาย และยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ จ.สระบุรี อีกด้วย ทั้งยังเป็นพระรุ่นที่หลวงพ่อกลั่น (แก่กว่าหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ 10 ปี) และแก่กว่าหลวงปู่สุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า 10 ปี เช่น กัน หลวงปู่จั่นหรือพ่อจั่น หรืออุปัชฌาย์จั่น แห่งวัดบางมอญนี้นั้น ท่านเป็นเจ้าของเหรียญหล่อรูปเหมือนอันลือลั่น ได้สร้างนามและเกียรติคุณดังขจรขจายไปทั่วสารทิศ พุทธคุณของเหรียญนั่นเป็นเลิศด้านมหาอุดและคงกระพัน มีคนทั่วไปนิยมยิ่ง(หมายถึงของแท้) แม้จะใหญ่ไปสักนิด พุทธคุณล้ำเลิศจริงๆ
ประวัติความเป็นมาของอุปัชฌาย์จั่น ท่านเกิดที่ตำบลบางมอญ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ปีกุน พ.ศ.2380 จ.ศ.1199 ร.ศ.56 ค.ศ.1837-8 โดยบิดาของท่านชื่อ ทบ โยมมารดา ชื่อ ทรัพย์ ชีวิตเมื่อครั้งเยาว์วัยได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านอยู่กับวัด สมัยก่อนโรงเรียนหายากจึงเล่าเรียน กับพระตามวัด จนกระทั่งอ่านออกเขียนได้ ทั้งภาษาไทยและอักษรขอม ครั้นเมื่ออายุ 23 ปี (พ.ศ.2403) ญาติโยมได้ทำการอุปสมบทให้ที่วัดบางมอญนั่นเอง โดยมีพระอธิการอินทร์ วัดตาลเอน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาต่าย วัดระฆัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์จีน วัดบางมอญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชได้รับฉายาว่า "จันทร" และได้อยู่วัดบางมอญตลอดมา ปี พ.ศ.2435 อายุได้ 55 ปี พรรษาที่ 32 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรอยู่ในเขตอำเภอมหาราช
อุปัชฌาย์จั่น เป็นพระเถระพระคณาจารย์รุ่นเก่า มีอายุสูง พรรษาก็มาก จนได้รับเกียรติยกย่องว่า เป็นพระที่กอร์ป ด้วยคุณธรรม เมตตาธรรม อย่างสูงส่ง หลวงพ่ออุปัชฌาย์หรือหลวงพ่อจั่น ได้รับการขนานนามว่าเป็นพระผู้คงแก่เรียน และได้รับการยกย่องว่าทรงวิทยาคุณในทางไสยาศาสตร์อย่างแท้จริง คนสมัยเก่าของชาวอำเภอมหาราช ที่ยังมีชีวิตอยู่และเป็นศิษย์ของหลวงพ่อจั่นอันมี กำนันบรรจง เฉลยวาเรศ กำนันตำบลบางนา อำเภอมหาราช อยุธยา และคุณคำรณ ขำคล้อยซึ่งทั้งสองคนเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนมีนักเลงทุ่งมหาราช ซึ่งไม่ชอบยอมแพ้ใครง่ายๆ ถึงแม้แต่นักเลงถิ่นอื่นยังขยาดหวาดผวา ไม่กล้ามาราวีหรือต่อกรด้วย นักเลงสมัยก่อนมีเรื่องขัดใจกันมักจะนัดดวลกับแบบตัวต่อตัว หรือแบบตะลุมบอนกัน พอฝ่ายหนึ่งหัวร้างข้างแตกย่อมเป็นฝ่ายแพ้ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชนะจะไม่ซ้ำเติมและไม่ปฏิบัติการทารุณต่อ แต่กลับช่วยเหลือทำให้เกิดความเข้าใจและนับถือในอาวุโสของผู้ชนะ
อุปัชฌาย์จั่น ท่านเป็นพระแบบโบราณ ถือเคร่งในธรรมวินัย ยึดถือคำสอนของพุทธองค์ตลอดมา ท่านยึดสันโดษ ไม่โลภแต่กลับช่วยเหลือ อนุเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ดังนั้น ที่วัดของท่านจึงมีสัตว์หลายชนิดมาอาศัยท่านอยู่เป็นจำนวนมาก อุปัชฌาย์จั่นหรือหลวงพ่อจั่น ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ตั้งแต่พ่อลูกถึงหลานก็ยังมี ฉะนั้น จึงกล่าวได้โดยไม่ต้องสงสัยว่า ชาวทุ่งมหาราช ยุคก่อนต้องเป็นศิษย์ของท่าน กันแทบทั้งนั้น
หลวงพ่อจั่น เป็นพระนักปฏิบัติ คือ ยึดสมถะและวิปัสสนาธุระ แม้ว่าท่านจะมรณภาพมาเป็นนานถึง 61 ปีมาแล้วก็ตาม แต่ตำรับตำราของหลวงพ่อท่านได้มอบให้เป็นสมบัติของวัดเป็นหลักฐานประการสำคัญว่า หลวงพ่อเป็นพระที่ศึกษาค้นคว้าวิทยาการความรู้ ตลอดจนเทิดทูนวิชาการทุกแขนงที่ได้ศึกษามา นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเหลืออนุชนรุ่นหลังได้มีตำราเก่าๆ ไว้ศึกษาหาความรู้ นับได้ว่าหลวงพ่อท่านมองเห็นการณ์ไกล จึงรักษาสมบัติอันมีค่าและควรจะต้องถือเป็นแบบฉบับต่อไปในอนาคต
หลวงพ่อจั่นท่านเป็นพระที่มีอัชฌาศัยสมถะ มักน้อย เป็นผู้มีเมตตาธรรมและจำใจ มีศีลาจาราวัตรเคร่งครัด ต่อพระธรรมวินัย ท่านได้ปฏิบัติสมณธรรมอันควรแก่สมณะเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ของบรรพชิตและฆราวาสทั่วๆ ไป พยายามอมรมบ่มนิสัยให้พระเณรทุกรูปทุกนามปฏิบัติตนให้อยู่ธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด โดยยกเอาอุทาหรณ์และคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งสั่งสอนประชาชน ในแถบถิ่นใกล้ ไกลวัด ว่าให้ทุกคนประพฤติดีมีศีลธรรมประจำใจ จะทำสิ่งใดอย่ามัวรีรอ หลวงพ่อเป็นพระที่มีจิตใจมั่นคงในการที่จะทะนุบำรุงพระศาสนาด้วยความมุ่งมั่นเป็นเอก การเอาใจใส่ดูแลวัดวาอารามของท่านด้วยความมุมานะนี่เอง จึงทำให้วัดบางมอญในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่เจริญรุ่งเรืองมากวัดหนึ่ง ในแถบถิ่นตำบลบางนา เป็นวัดที่ใหญ่โต ทั้งกุฏิ ศาลาการเปรียญโรงเรียน
หลวงพ่อจั่น เป็นพระเถรคณาจารย์สมัยเก่า สูงด้วยอายุ มากด้วยพรรษา และได้รับเกียรติยกย่องว่า เป็นพระที่มีคุณธรรมและเมตตาธรรมอันสูงส่ง เหรียญของท่านถึงแม้จะสร้างมานานเกินกว่า 67 ปีแล้วก็ตาม ยังมีผู้นิยมเลื่อมใสศรัทธากันอยู่มาก และเป็นเหรียญหนึ่งที่ชาวอยุธยาทั้งมวลภูมิใจ ยิ่งว่าเป็นเหรียญขลังที่มีอันดับเหรียญหนึ่งเดียว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหรียญหลวงพ่อมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงทำให้ความนิยมลดลงไปบ้าง แต่ถ้าพูดถึงกิตติคุณในวัตถุมงคลของท่านแล้ว ประชาชนคนทั่วไปยังศรัทธาเลื่อมใสกันอยู่ไม่น้อย ถึงแม้ว่าว่าเหรียญของท่านจะไม่เด่น ขาดความงามไปบ้าง แต่ก็ปรากฏว่ามีของปลอมออกระบาดไปทั่ว แสดงถึงว่าเหรียญของท่านต้องดีจริง จึงมีผู้ทุจริตปลอมแปลง (ถ้าไม่ดีคงไม่มีคนปลอม) อนึ่งเหรียญของหลวงพ่อที่แท้จริงนั้นดูง่าย เพราะหล่อในสภาพที่เรียบร้อย จึงแตกต่างกับของปลอมอย่างเห็นได้ชัด
หลวงพ่อจั่นหรืออุปัชฌาย์จั่น เป็นพระเถระที่มีศีลาจาวัตรครบถ้วน การปฏิบัติธรรมวินัยระเบียบแบบแผน ท่านก็เคร่งครัด เมื่อผู้ใดพบเห็นก็ชวนให้เคารพนับถือกราบไหว้ มาพบท่านครั้งหนึ่งก็พยายามมาหาท่านอีกเป็นครั้งที่ 2-3
หลวงพ่อได้บำเพ็ญศาสนกิจด้วยคุณงามความดีมาตลอดชีวิตของท่าน กระทั่งถึงวันอาทิตย์แรม 3 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ เวลาบ่าย 4 โมง ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ท่านได้ถึงกาลมรณภาพ นับสิริอายุครบ 90 ปี (67 พรรษา) บริบูรณ์ นับได้ว่าชาวอำเภอมหาราชได้สูญเสียพระเถระพระอาจารย์ผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรไปอย่างน่าเสียดาย
อนึ่งในงานพิธี ฌาปนกิจศพหลวงพ่ออุปัชฌาย์จั่นนั้น ปรากฏว่าบรรดาศิษย์และท่านที่เคารพเลื่อมใสต่างมาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง แม้วัดบางสงบจะกว้างต่างก็ต้องแออัดไปด้วยผู้คนเพราะใครๆ ก็เคารพเลื่อมใสและศรัทธา จึงได้มาร่วมพิธีกับอย่างคับคั่ง สรุปพระอุปัชฌาย์จั่นหรือที่ทุกคนเรียกว่าหลวงพ่อจั่น ท่านได้รับการยกย่องพิเศษสุด 3 ประการด้วยกัน คือ
1.ท่านเคร่งในการปฏิบัติธรรม
2. อมรมสั่งสอนกุลบุตร-ธิดา ให้มีความรู้
3. ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ
จนกระทั่งได้รับการขนานนามว่าหลวงปู่พระผู้ทรงคุณธรรมและกอร์ปด้วยเมตตาบารมี สมกับเป็นปูชนียบุคคลที่ควรสักการะเคารพยกย่องอย่างแท้จริง
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม
เหรียญรุ่นแรก และรุ่นเดียวของท่าน สร้างปี 2465 โดยท่านมหาทรัพย์ เฉลยวาเรศ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ได้อนุญาตสร้างรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริง เนื้อสัมฤทธิ์ พร้อมเหรียญหล่อเนื้อทองเหลือง จำนวน 1,500 เหรียญ ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญกลมขนาดค่อนข้างใหญ่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนเต็มองค์ ไม่มีระบุข้อความใด ๆ ด้านหลังเป็นยันต์สี่เหลี่ยมขมวดมุม บรรจุอัขระ 16 ตัว หรือเรียกว่าพระเจ้า 16 องค์
พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา
วัตถุมงคลท่านเด่นทางด้าน แคล้วคลาดและกันสัตว์ที่มีเขี้ยวงา