ข้อมูลประวัติ ท่านเจ้ามา (พระพุฒาจารย์มา) วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส)
พระพุฒาจารย์ เอนกสถานปรีชา ฯ (มา) พระราชาคณะผู้ใหญ่ เจ้าคณะอรัญวาสี มีสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง
"ท่านเจ้ามา" เป็นพระเกจิอาจารย์สมัยรัชกาลที่ 5 โดยท่านเกิดเมื่อปี 2380 (สมัยรัชกาลที่ 3) เป็นชาวสำเพ็ง ตอนเป็นวัยรุ่นท่านมีนิสัยเป็นนักเลงเหมือนเพื่อนๆ ในละแวกนี้ ต่อมาเมื่ออายุ 25 ปี ได้บวชที่วัดสามปลื้ม นิสัยนักเลงก็เลยหมดไป จึงมีความเจริญรุ่งเรืองในธรรมะ จนได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานในคณะสงฆ์และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระ ราชาคณะสูงสุดที่ "พระพุฒาจารย์" ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2457 สิริอายุ 77 ปี
พระพุฒาจารย์ (มา) นับเป็นผู้ที่มีความชำนาญทั้งทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และไสยเวทวิทยาคมเป็นอย่างสูง โดยหลังจากที่ท่านได้กลับจากการธุดงควัตร ท่านก็ได้รับการสืบทอดตำราการสร้างพระกริ่งชัยวัฒน์โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยท่านได้รับตกทอดมาจาก สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส หลังจากนั้นท่านเจ้ามาได้เป็นผู้ก่อกำเนิดตำนานพระชัยวัฒน์อันยิ่งใหญ่ของเมืองไทย
พระพุฒาจารย์ เดิมชื่อ มา ชื่อ อินทร์สร ในพระพุทธศาสนา เกิดในสกุลอุบาสกใจบุญ โยมผู้ชายชื่อ ทองอยู่ โยมผู้หญิงชื่อ แช่ม พระพุฒาจารย์เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๓๘๐ (รัตนโกสินทร์ศก ๕๖) ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกานพศก (จุลศักราช ๑๑๙๙) ณ ตำบลบ้านเขาแหลม อำเภอสำเพ็ง กรุงเทพฯ
ครั้นพระพุทธศักราช ๒๔๐๔ (รัตนโกสินทรศก ๘๐) ตรงกับปีระกา ตรีศก (จุลศักราช ๑๒๒๓) ท่านมีชนมายุได้ ๒๕ ปี จึงอุปสมบทเป็นภิกษุ ณ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส พระอาจารย์นอง วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นพระอุปัชฌายะ เจ้าอธิการแบน วัดบางกระสัน เป็น กรรมมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทอง วัดบางกระสัน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ต่อมาพระพุทธศักราช ๒๔๑๔ (รัตนโกสินทรศก ๙๐) ตรงกับปีมะเมีย โทศก (จุลศักราช ๑๒๓๒) ท่านมีชนมายุ ๓๕ ปี มีพรรษา ๑๐ พรรษา ได้เป็นปลัดในพระวรญาณมุนี (เสง) พระราชาคณะวัดจักรวรรดิราชาวาส (ซึ่งภายหลังเลื่อนเป็นพระโพธิวงษาจารย์ ญาณวิสุทธิจริยา ปรินายก)
วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๓๒ (รัตนโกสินทรศก ๑๐๘) ตรงกับ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู เอกศก (จุลศักราช ๑๒๕๑) ท่านมีชนมายุ ๕๓ ปี มีพรรษา ๒๘ พรรษา ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรโดย พระบรมมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เป็นพระครูภาวนาวิจารน์ ผู้ช่วยกิจการในวัดจักรวรรดิราชาวาส มีนิตยภัตรเดือนละ ๑ บาท ๒ สลึง
วันที่ ๑๗ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๓๕ (รัตนโกสินทรศก ๑๑๑) ตรงกับ ณ วันศุกร์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง จัตวาศก (จุลศักราช ๑๒๕๔) ท่านมีพระชนมายุ ๕๖ ปี มีพรรษา ๓๑ พรรษา ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรโดยพระบรมมหาบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระบรมสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นพระมงคลทิพมุนี สถิตย์พระพุทธบาท เกาะสีชัง เจ้าคณะใหญ่แขวงเมืองสมุทรปราการ มีนิตยภัตรเดือนละ ๓ บาท ภายหลังได้เพิ่มนิตยภัตรเป็นเดือนละ ๗ บาท ๒ สลึง
วันที่ ๓๐ ธันวาคม พระพุทะศักราช ๒๔๕๖ (รัตนโกสินทรศก ๑๓๒) ตรงกับ ณ วันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู เบญจศก (จุลศักราช ๑๒๗๕) วัน เดือน ปี นี้ ท่านมีชนมายุได้ ๗๗ ปี มีพรรษา ๕๒ พรรษา พระบรมมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องยศทหารปืนใหญ่ เสด็จประทับพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ตั้งสมณศักดิ์ พระราชทานหิรัญบัตร เลื่อนพระมงคลทิพมุนี เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เพิ่มนิตยภัตรเป็นเดือนละ ๘ บาท มีนามตามจารึกในหิรัญบัตร และประกาศตั้ง ดังแจ้งต่อไปนี้
ศุภมัสดุ พระพุทะศาสนกาล เป็นอดีตภาค ๒๔๕๖ พรรษกาลปัตยุบัน จันทรโคจร อุสภสัมพัตสร บุศยมาศ สุกกปักษ์ จตุตถิดิถึ ภุมวาร สุริยคติกาล ธันวาคมมาส ติงสติมสุรทิน โดยกาลนิยม
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช ฯ บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริว่า พระมงคลทิพมุนี ประกอบด้วยวิริยอุตสาหในกิจอันเป็นคุณประโยชน์ในพระศาสนา ชำนาญในวิปัสนาธุระ เป็นพระอุปัชฌายะให้อุปสมบทแก่กุลบุตรเป็นอันมาก มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เป็นทีชอบที่นับถือของชนทั้งหลาย เพราะขวนขวายสงเคราะห์ประชาราษฎร์ อันมีทุกข์ลำบากด้วยพยาธิทุกข์ และมรณภัยให้มีความสะดวกใจทุกสถาน เอาใจใสในการก่อสร้างแลปฏิสังขรณ์อารามวิหาร เป็นผู้รักษาการพระพุทธบาท ได้จัดการทำนุบำรุงให้มีความเจริญยิ่งขึ้น เป็นที่สะดวกสบายแก่สัปบุรุษ ผู้ขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทตาฤดูกาล
และได้ชักชวนผู้มีศรัทธา ให้บริจาคทรัพย์ จัดการปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาท อันชำรุดทรุดโทรมมาแต่ก่อน ให้ดีดังเดิมแล้วเสร็จบริบูรณ์ แล ขวนขวายในการที่จะให้เกิดประโยชน์ บำรุงพระอารามให้รุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก บัดนี้ก็ประกอบด้วยพรรษายุกาลมีวัยวุฒิเป้นพระเถระผู้ใหญ่ สมควรจะพระราชทานเพิ่มสมณศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่งอันสูงขึ้นได้ จึงทรงพระกรุณาแรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพระมงคลทิพมุนี เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เจ้าคณะอรัญวาสี มีนามตามจารึกในหิรัญบัตรว่า พระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชาวิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศราธิการ อภิบาลบทวลัญช์ อรัญวาสี สังฆนายก เจ้าคณะอรัญวาสี มีสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง สถิต ณ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาสราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีถานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒสมณาจารย์ ปรีชาญาณจาริก อรัญญิกสังฆนายกธุระวาหะ ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูศัพทสุนทร ๑ พระครูอมรโกษิต ๑ พระครูธรรมรักขิต ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๘ รูป
วันที่ ๒๘ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ (รัตนโกสินทรศก ๑๓๓) ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ฉศก (จุลศักราช ๑๒๗๖) ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคลมแน่นเสียด มีแพทย์หลวงและแพทย์เชยศักดิ์หลายนาย ประกอบยารักษาพยาบาล อาการมีแต่ทรงกับทรุด วันปวารณา เป็นวันเคยลงอุโบสถไม่ขาด ถึงกับลงอุโบสถไม่ได้ พระมงคลทิพมุนีครั้งยังเป็นพระธรรมวิหารีเถร พร้อมด้วยพระภิกษุถานาเปรียญที่เลิกจากปวารณาในอุโบสถแล้ว มาปวารณาที่กุฎีพระพุฒาจารย์อีกครั้ง ๑
ต่อมาวันที่ ๙ ตุลาคม พระพุทะศักราช ๒๔๕๗ (รัตนโกสินทรศก ๑๓๓) ตรงกับ ณ วันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ฉศก (จุลศักราช ๑๒๗๖) เวลา ๑๐ ทุ่ม ๓๐ นาที ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ มีชนมายุ ๗๘ ปี กับ ๑ เดือน ๒๒ วัน มีพรรษาได้ ๕๒ พรรษา
รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๑๐ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพ ฝ่ายสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์ มีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มหาสังฆนายก เสด็จเป็นปราน แล้วมีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จภายหลัง กับทั้งบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการอีกมากที่ได้เสด็จและมาในวันนั้น ส่วนศพได้รับพระราชทานโกศ ๘ เหลี่ยม ฉัตร ๕ ชั้น ๔ คัน มีกลองชนะ เครื่องอินทร์ ๕ คู่ ปี่ไฉน ๑ คัน พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมประจำ ๑ สร้าง มีกำหนด ๑ เดือน เป็นเกียรติยศยิ่ง ประวัติย่อพอสังเขปเพียงเท่านี้