ข้อมูลประวัติ หลวงปู่รอด วัดโคนอน กรุงเทพฯ
วัดโคนอน แขวง บางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นวัดที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติชีวิตของ 2 พระเกจิอาจารย์ดัง คือ หลวงปู่รอด และหลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง บางขุนเทียน กรุงเทพฯ
เมื่อครั้งที่หลวงปู่รอด ถูกถอดสมณศักดิ์ "พระภาวนาโกศล" เพราะไม่ยอมถวายอดิเรกรัชกาลที่ 4 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดโคนอน พร้อมกับหลวงปู่เอี่ยมผู้เป็นศิษย์เอก และเมื่อหลวงปู่รอดมรณภาพแล้ว หลวงปู่เอี่ยมก็เป็นเจ้าอาวาส "วัดโคนอน" รูปต่อมา
กล่าวสำหรับอัตโนประวัติของหลวงปู่รอด อาจจะไม่ค่อยชัดเจน เพราะท่านเป็นเกจิอาจารย์ยุคเก่า แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ท่านมีภูมิลำเนาอยู่คลองบางขวาง ตำบลคุ้งถ่าน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ในสมัยนั้น) เดิมท่านเป็นฐานานุกรมในพระนิโรธรังสี เจ้าอาวาสวัดหนัง บางขุนเทียน
หลวงปู่รอดเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อพระนิโรธรังสีมรณภาพ ได้รักษาการอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนางนอง และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระภาวนาโกศลเถร"
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชทานกฐินวัดนางนอง หลวงปู่รอดไม่ยอมถวายอดิเรก ทางราชการจึงปลดออกจากตำแหน่ง และริบสมณศักดิ์คืน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความคิดที่ท่านไม่เห็นด้วย ในการที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้ง "ธรรมยุติกนิกาย" ขึ้นมา ทำให้สงฆ์ต้องแตกแยกกันนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรเป็น "พระราชาคณะ" อีกต่อไป เมื่อหลวงปู่รอดถูกถอดจากสมณศักดิ์แล้ว ก็ออกจากวัดนางนอง กลับไปยังวัดบ้านเกิดที่ห่างไกลจากความเจริญ คือ "วัดโคนอน" และได้มรณภาพที่วัดนั้น
หลวงปู่รอด ได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ทรงวิทยาคม พุทธคุณขลัง ได้ถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ ให้หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ประวัติกล่าวถึงด้านปาฏิหาริย์เป็นที่เล่าขานกันมาก เป็นที่ฮือฮาในยุคนั้น เช่น ความสามารถในเรื่องการถอนคุณไสย การเดินธุดงค์ตามป่าเขา ได้ผจญกับสัตว์ร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะโขลงช้างที่ดุร้าย แต่สัตว์เหล่านั้นก็ไม่สามารถทำอันตรายท่านได้ หรือบางครั้งก็ถูกลองดีจากพวกที่มีวิชาอาคมต่างๆ เช่น พวกกะเหรี่ยง เขมรก็สามารถสยบได้หมด
อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงคือ หลวงปู่รอด เดินบนใบบัว เมื่อครั้งที่ได้ออกเดินธุดงค์พร้อมด้วยสามเณรลูกศิษย์รูปหนึ่ง พอถึงห้วยกระบอก จังหวัดกาญจนบุรี ด้านหน้าที่จะเดินต่อไปเป็นบึงกว้าง ด้านข้างเป็นเขาสูงชันลำบากต่อการปีนป่ายข้ามไป หลวงปู่รอดจึงหันมาถามสามเณรว่า จะข้ามน้ำกลางบึงไปด้วยกันไหม สามเณรตอบว่า ถ้าหลวงปู่ข้ามไปได้ ผมก็จะข้ามไปด้วย หลังจากนั้นหลวงปู่รอดก็เจริญอาโปกสิณครู่หนึ่ง แล้วจึงก้าวไปบนใบบัวอย่างช้าๆ จนถึงฝั่ง
ส่วนสามเณรก็เดินตามหลวงปู่ไปทุกฝีก้าว สุดท้ายไม่เหยียบตามท่าน จึงตกไปในน้ำ หลวงปู่รอดจึงกล่าวกับสามเณรว่า "เห็นไหม กำชับไว้แล้วยังพลาดจนได้ ถ้าเป็นกลางบึงอาจจมน้ำได้ การทำเช่นนี้ต้องมีสมาธิจิตใจแน่วแน่" นอกจากนี้ยังมีเรื่องปาฏิหาริย์ของหลวงปู่รอดอีกมากมายหลายเรื่อง
เมื่อครั้งอยู่ที่วัดโคนอนนั้น ทั้งหลวงปู่รอดและหลวงปู่เอี่ยม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้ที่วัดนี้ในรูปลักษณ์ที่คล้ายๆ กันในรูปแบบของพระภควัมบดี หรือพระปิดตา
หลวงปู่รอดท่านได้สร้างพระปิดตาขึ้นแจกลูกศิษย์ลูกหาไปใช้กัน จนปรากฏความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นิยมมาจนทุกวันนี้ โดยพระปิดตาของท่านสร้างด้วยไม้แกะหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งล้วนเป็นไม้มงคลตามตำรา โดยแกะเป็นรูปพระปิดตาแบบลอยองค์ มือยกขึ้นปิดหน้าเพียงคู่เดียว ใต้ฐานมีการเจาะเป็นช่องว่างแล้วเอากระดาษสาที่จารึกพระนามของพระอรหันตสาวก 3 องค์คือ พระสิวลี-พระสังกัจจายน์-พระภควัมบดี บรรจุเข้าไป ปิดทับด้วย "ชันโรง" อีกที แล้วเอารักหรือยางไม้ทาทับผิวชั้นนอกเพื่อรักษาสภาพพระให้อยู่ได้นาน รักที่ทาผิวชั้นนอกจะออกสีดำอมแดง เพราะเก่าได้อายุที่นานถึงร้อยกว่าปีแล้ว ต่อมาท่านได้ถ่ายทอดวิชาการสร้างพระปิดตานี้ให้กับหลวงปู่เอี่ยมด้วย แต่หลวงปู่เอี่ยมท่านสร้างไว้จำนวนไม่มาก ท่านมักสร้างด้วยเนื้อโลหะมากกว่า เนื่องจากสามารถสร้างได้คราวละหลายๆองค์ เพื่อแจกคนที่มาขอกันเป็นจำนวนมากได้อย่างเพียงพอ
สำหรับพระปิดตาไม้ แกะหลวงปู่รอด ท่านสร้างไว้ไม่มากเช่นกัน จึงไม่ค่อยพบเห็นในสนาม ที่สำคัญ ใครมีต่างก็เก็บไว้บูชา เพราะเชื่อในคุณวิเศษที่กล่าวกันว่า "รอบด้าน" ที่น่าแปลกก็คือ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมกลับได้รับความนิยมมากกว่าของผู้เป็นอาจารย์
แต่ ไม่ว่าจะเป็นพระปิดตาขององค์ไหน หากได้ "ของแท้" ที่ผ่านการปลุกเสกจากท่านไว้ครอบครอง ก็นับว่า "อุ่นใจ" แล้ว ส่วนสนนราคา เช่าหาก็ว่ากันตามสภาพและความพึงพอใจ แต่ยังไงก็ "แพง" เพราะของมีน้อยและหายากเข้า ไปทุกวัน ประสบการณ์ยิ่งหายห่วง เพราะเชื่อมั่นกันมากในเรื่องของความเหนียว